ยุคพระเครื่องเนื้อดินของพะเยานั้น ขออ้างถึงในยุคสมัยของพระเจ้าติโลกราชซึ่งครองอาณาจักรล้านนา ระหว่างปี พ.ศ.1985-2025 พระองค์ยกกองทัพเข้าปราบปรามเมืองสองแคว เมืองเชลียง เมืองสุโขทัย ตลอดถึงเมืองกำแพงเพชร พระยาอุทิศเจียง เจ้าเมืองสองแควเข้าสวามิภักดิ์พระเจ้าติโลกราชจึงให้ไปครองเมืองพะเยา ต่อมา พ.ศ.1994-2030 พระยาอุทิศเจียงมาครองเมืองพะเยา และยังเอาช่างปั้นถ้วยชาม อันเป็นศิลปะของกรุงสุโขทัยมาด้วย สมัยพระยายี่ครองเมืองพะเยา ช่างปั้นชาวเชลียงได้ถูกกวาดต้อนมาอยู่ทางเหนือกว่า 30-40 ปี จึงเป็นเหตุให้พระเครื่องที่พบในองค์พระเจ้าตนหลวงและกรุอื่นๆรับอิทธิพลของช่างปั้นดินชาวเชลียงและช่างชาวกำแพงเพชร ทำให้มีศิลปผสมผสานทั้งเชียงแสน สุโขทัยและกำแพงเพชร เป็นเอกลักษณ์เรียกว่าช่างพะเยา ความละเอียดเนื้อดินพระและวิธีการสร้าง การแกะแม่พิมพ์ต่างได้รับอิทธิพลจากสุโขทัย และกำแพงเพชร เช่น พระซุ้มกอพะเยามีลักษณะคล้ายกับพระซุ้มกอพิมพ์กลาง พิมพ์เล็กของกำแพงเพชร.