หลังจาก สามเณรพรหมรังษี ได้บรรพชาเป็นสามเณรแล้วก็ได้อยู่จำพรรษา จนตลอดได้ศึกษาเล่าเรียนท่องสวดมนต์ 7 ตำนาน และ 12 ตำนาน พร้อมกับศึกษาเพิ่มเติมข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ ตลอดถึงวัฒนธรรมประเพณีต่างๆ อยู่รับใช้ปฏิบัติกรรมฐานและอุปฐากรับใช้พระอาจารย์ คือ ครูบาพรหมเสน วัดทุ่งล้อม อยู่นาน 3 พรรษา ครูบาพรหมเสน ได้พิจารณาเห็นว่าสามเณรพรหมรังษี ดูมวัน มีความสนใจเล่าเรียนศึกษาจึงได้นำฝากเรียนนักธรรมที่โรงเรียนปริยัติธรรม ที่วัดสำเภา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ สามเณรพรหมรังสี ก็ได้ใช้ความวิริยะอุตสาหะเล่าเรียนธรรมวินัยที่วัดสำเภา เป็นเวลาหลายพรรษา จวนจนอายุ 22 ปี ก็ได้กลับมาอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดแม่ริม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ 2477 โดยมีพระครูคันธวงษ์ เป็นพระอุปัชฌายะ พระอธิการแก้ว เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระคำอ้าย เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาใหม่ว่า “ โอภาโส ”
หลังจากได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว จึงได้เดินทางไปจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าม่วง อ.แม่ริม โดยมีพระอาจารย์ไสว เป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่นั่น หลังจากออกพรรษาแล้วก็จึงได้กราบอำลาพระอาจารย์ไสว เดินทางเข้าสู่อำเภอเมืองเชียงใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยเข้าไปกราบมอบตัวถวายเป็นลูกศิษย์อุปฐากรับใช้ “ ครูบาเจ้าศรีวิไชย นักบุญและนักพัฒนาแห่งล้านนาไทย” ซึ่งขณะนั้นครูบาเจ้าศรีวิชัย กำลัง “นั่งหนัก” เป็นประธานดำเนินการก่อสร้างพระวิหารหลวงวัดสวนดอก ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ พระพรหมรังษี (ครูบาสม โอภาโส) มีความเคารพนับถือครูบาศรีวิไชยมาก ได้ติดตามอุปฐากรับใช้ครูบาเจ้าศรีวิไชย อย่างใกล้ชิด ได้ร่วมพัฒนาบูรณะก่อสร้างถาวรวัตถุต่างๆ ในวัดภาคเหนือจำนวนมาก อาทิเช่น วัดสวนดอก วัดพระสิงห์ สร้างถนนขึ้นวัดพระธาตุดอยสุเทพ วิหารครอบรอยพระพุทธบาทสี่รอย อ.แม่ริม , พระธาตุม่อนเปี๊ยะ อ.สะเมิง และสถานที่อื่นๆ อีกมากมาย
(โปรดติดตามตอนต่อไป ครับ) |