ถ้าเราอยากจะรู้ว่า พระพิมพ์ใดพิมพ์หนึ่งมีอายุความเก่าแก่เท่าใด มันก็มีความจำเป็นที่เราจะต้องรู้จักสกุลศิลปะในพระพิมพ์นั้นๆ ก่อนอะไรอื่น จากนั้นก็ต้องศึกษาพิจารณาเนื้อหามวลสารหรือวัสดุใดๆ ที่นำมาสร้างพระพิมพ์นั้นๆ ว่ามีธรรมชาติความเก่าแก่ สอดคล้องกับประมาณอายุของสกุลศิลปะในพิมพ์พระนั้นหรือไม่ แล้วจึงหันกลับไปมองกรุแหล่งที่มาของพระพิมพ์ดังกล่าวว่าเป็นกรุเจดีย์สมัยใด? สมัยเดียวกันกับที่ได้ สร้างพระรึเปล่า หรือว่าเป็นพระพิมพ์ที่ถูกบรรจุเข้ากรุไว้ในยุคหลังที่อาจจะมีการบูรณปฏิสังขรณ์ ลักษณะและสภาพกรุเป็นอย่างไร? ใครเป็นผู้สร้าง? และมีวัตถุประสงค์การสร้างอย่างไร?
ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เอกสารสำคัญฉบับหนึ่งที่เขียนขึ้นในสมัยนั้นก็คือ ?ตำนานพระพิมพ์? เขียนโดย ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ หลายท่านก็เคยได้อ่านหลายเที่ยวแล้ว โดยเ?ฉพาะได้กล่าวถึงพระสกุลลำพูนที่มีพระพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่ใต้ร่มโพธิพฤกษ์ ซึ่งมีผู้ขุดพบในบริเวณอุปจารวัดร้างเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะพระคง ที่ท่านได้ยินชาวบ้านเรียกกันว่า พระอยู่คง ตามความเชื่อแบบไสยศาสตร์ว่า อยู่ยงคงกระพันชาตรี หรือฟันแทงไม่เข้า และเมื่อได้สำรวจวัดร้างดังกล่าวแล้ว พบว่ามีแต่รากฐานแสดงว่าเก่าแก่ แต่ท่านเองไม่แสดงตนว่ารู้หรือไม่รู้ว่าเก่าเท่าใด
ข้อมูลดังกล่าวทำให้ทราบว่า พระคง เป็นพระพิมพ์ดินเผา ที่ขุดพบในบริเวณอุปจารวัดพระคงฤาษี ซึ่งตอนนั้นยังเป็น ?วัดร้าง? ไม่มีชื่อ เป็นวัดเก่า เพราะยังเหลือรากฐานพอให้เห็นโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมโบราณเท่านั้น แต่ไม่รู้ว่าเก่าแก่เท่าใด ต่อมาเพราะว่าพระคงโด่งดังขึ้นมาในวงการนักนิยมสะสมพระพิมพ์พระเครื่อง ก็คงจะมีการตั้งชื่อวัดนี้ขึ้นเป็น วัดพระคงฤาษี กลายเป็นเรื่องเล่าว่า มีฤาษีปรากฏขึ้นนาม พระคงฤาษี ทั้งที่เดิมพระคงที่ได้ชื่อนี้เป็นเพราะว่ามีพิมพ์ทรงใหญ่กว่าพระรอด สำเนียงเดิมที่เรียกพระพิมพ์นี้ก็คือ พระโข่ง หรือ พระโค่ง ไม่ใช่เพราะว่าชาวบ้านเขาจะรู้มาก่อนว่า พระคงฤาษีเป็นผู้สร้างพระพิมพ์นี้ เมื่อตรวจสอบตำนานพงศาวดารประมาณอย่างน้อย 4 เล่ม ได้แก่ ชินกาลมาลินีปกรณ์ มูลศาสนา? ตำนานจามเทวี และ จามเทวีวงศ์ ไม่ปรากฏฤาษีชื่อ พระคงฤาษี นอกจากเอกสารที่เพิ่งเขียนแจกตามวัดลักษณะเป็นเรื่องแต่งขึ้นอย่างน่าเกลียดเพราะไม่รัดกุม ว่าไปแล้วเท่ากับเป็นเรื่องของการหลอกลวง แม้แต่ในหนังสือตำนานพงศาวดารทั้ง 4 เล่มดังกล่าว ก็ไม่มีชื่อ พระคงฤาษี อาจเป็นเพราะว่าเป็นหนังสือที่แต่งขึ้นหลังพุทธศตวรรษที่ 21 ทุกเล่ม ดังนั้น พระวาสุเทพ กับ พระสุกกทนฺตฤาษี และฤาษีอื่นๆ 108 ฤาษี ที่ว่าบำเพ็ญตบะอยู่แถวๆ ดอยสุเทพตามตำนานกล่าวถึงจึงไม่มีตัวตน ในบริเวณวัดดอยสุเทพเองก็ไม่มีโบราณสถานและวัตถุเก่าแก่ถึงสมัยทวาราวดีแม้แต่ชิ้นเดียว และวัดนี้ก็มีหลักฐานเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ระบุชัดเจนว่า วัดดอยสุเทพสร้างขึ้นในรัชสมัย พระเจ้ากือนา (ไม่ใช่ถือนา) เรื่องของเรื่องก็ยิ่งทำให้เราเกิดรู้สึกเหมือนถูกตบหน้าโดยไม่รู้สึกตัวมาก่อน
ที่ร้ายแรงก็คือ ตำนานกล่าวเหมือนๆ กันว่า พระนางจามเทวี ธิดาเจ้ากรุงละโว้มีพระสวามีปกครองเมืองราม (อโยธยา) ได้เสด็จขึ้นมาปกครองเมืองหริภุญไชยตามคำทูลเชิญของฤาษี ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 12-13 แต่เมื่อตรวจสอบประวัติศาสตร์โบราณคดี อโยธยาเป็นเพียงชุมชนเล็กๆ ในสมัยกรุงละโว้ เป็นเมืองหลวงของแคว้นทวาราวดี ยังนับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายหินยานโบราณ ที่เรียกว่า ?เถรวาท? ต่อมาระหว่างพุทธศตวรรษที่ 16 อาณาจักรกัมพูชาโบราณขยายอิทธิพลเข้าผนวกกรุงละโว้เข้าไว้ในอำนาจอโยธยา หรือเมืองราม ของพระสวามีพระนางจามเทวี จึงเริ่มเปลี่ยนสภาพเป็นบ้านเป็นเมืองที่ขยายใหญ่ขึ้นประมาณระหว่างพุทธศตวรรษที่ 17 แต่ศูนย์การเผยแพร่วัฒนธรรมขอมยังคงอยู่ ณ กรุงละโว้ที่เริ่มเสื่อมประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 17 หรือต้นพุทธศตวรรษที่ 18 เป็นอย่างช้า อโยธยากลายเป็นราชธานี จึงเป็นไปไม่ได้ที่พระสวามีของพระนางจามเทวีจะเป็นกษัตริย์ในช่วงระหว่างพุทธศตวรรษที่ 12-13 ต้องมีอะไรคลาดเคลื่อนแน่ๆ โดยเฉพาะเกี่ยวกับช่วงระยะเวลา หรือไม่เรื่องราวของพระนางจามเทวีก็คงจะเป็นเรื่องแต่งขึ้น เช่น อย่างที่นักวิชาการรุ่นใหม่สันนิษฐาน
ในความรู้สึกของคนเฒ่าคนแก่รุ่นคุณปู่คุณทวดของผู้เขียน พระคง หรือพระลำพูน เป็นพระพิมพ์ดินเผา ซึ่งเป็นหนึ่งในพระพิมพ์พระเครื่องที่พระนางจามเทวีได้สร้างเข้าบรรจุไว้ใน ?จตุรพุทธปราการ? พร้อมกับพระพิมพ์พระเครื่องอื่นๆ อีกหลายพิมพ์นั้น ก็คงจะเป็นเรื่องของตำนานที่แต่งขึ้น เพื่อเพิ่มความศรัทธาในพระพุทธศาสนา เพราะอยู่ในช่วงการเผยแพร่พระพุทธศาสนา จตุรพุทธปราการที่ตีความกันว่า แปลว่า กำแพง 4 ด้าน หรือในสมัยเราก็คงจะเท่ากับวัด 4 มุมเมืองละกระมัง เพราะว่ากันมาแล้วว่า หมายถึง วัดดอนแก้ว วัดพระคง วัดมหาวัน วัดกู่เหล็ก ตอนหลังยังมีผู้ค้นพบว่ามีอีกวัดหนึ่ง แต่ก็ไม่มีใครเปลี่ยนเป็น ?เบ็ญจพุทธปราการ? หลักการเดิมในการสร้าง พระพิมพ์พระเครื่องของเดียนั้น นอกจากจะสร้างไว้เพื่อเผยแพร่ศาสนา หรือไว้เป็นที่ระลึกถึงพระพุทธเจ้าแล้ว ยังได้สร้างไว้ในจุดประสงค์ที่เป็น ?พระอุทเทสิกะเจดีย์? หรือเป็นสิ่งอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้วายชนม์ แต่ก็อาจจะนับได้ว่า การสร้างพระพิมพ์จตุรพุทธปราการเพื่อปกป้องพระศาสนาของพระนางจามเทวี ว่าไปแล้วก็เข้าข่ายทั้งเพื่อเผยแพร่ศรัทธาในพุทธศาสนาและเมื่อมีคนศรัทธามากๆ ก็เท่ากับ ?ปกป้องพระพุทธศาสนา? ตามความหมายที่ว่า ?จตุรพุทธปราการ? และจากประวัติการขุดค้นหาสมบัติโบราณและพระเครื่องในบริเวณวัดมหาวันหลายปีมาแล้ว มีบันทึกไว้ว่า พบหม้อดินบรรจุเถ้ากระดูกมนุษย์ด้วย ในหม้อนั้นยังมีแผ่นเงินแผ่นทองฉลุ และดุนนูน เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องสวยงามมาก ผู้เขียนก็มีวาสนาได้เห็นแล้ว นอกจากนั้นก็ยังพบ พระรอด พระคง พิมพ์เดียวกันกับที่พบบริเวณอุปจารวัดพระคงฤาษี และใต้ฐานชุกชีของวัดดอนแก้วด้วย รวมทั้งพระรอดหลวง ซึ่งก็คือ พระคงอีกพิมพ์หนึ่งนั่นเอง แต่พบจำนวนไม่มากนัก และก็มี พระเลี่ยง พระกวาง พระกล้วย พระละโว้ พระรอดดินดิบ พระรอดเกษร พระป๋วย แสดงว่าพระพิมพ์เหล่านี้เป็น พระอุทเทสิกะเจดีย์ หรือสิ่งอุทิศเป็นส่วนกุศลแก่ผู้วายชนม์ ถ้าไม่อนุโลมให้ ?ปกป้องพระศาสนา? ตามวัตถุประสงค์ของพระนางจามเทวีตามตำนาน พระพิมพ์ในกรุวัดมหาวันทั้งหมดจะเป็น ?พระจตุรพุทธปราการ? ตามวัตถุประสงค์ของพระนางจามเทวีหรือ?
พระคง กรุวัดพระคงฤาษี ซึ่งเป็นวัดร้างมาแต่เดิมนั้น วงการยกให้พระเครื่องกรุนี้เป็น พระคงกรุเก่า คำว่ากรุ มิได้หมายความว่าจะได้พบซากกรุ แต่ก็อนุโลมให้เรียกเป็น พระกรุเก่า ทั้งนี้เพราะพบ ณ อุปจารวัตร ซึ่งเป็นไปได้ว่า เป็นตำแหน่งพระสถูปเจดีย์องค์เดิมโค่นล้มลงด้วยเหตุใดๆ ก็ตาม ถ้าเป็นภัยธรรมชาติก็อาจจะเป็นเรื่องของการแผ่นดินไหว ซึ่งเป็นเหตุปกติหรือภัยธรรมชาติปกติของเมืองลำพูนและเชียงใหม่ ทั้งนี้เป็นเพราะว่าสองเมืองนี้และเมืองอื่นๆ อยู่ในรัศมีความสั่นสะเทือนของการเคลื่อนตัวของชั้นหินที่เกิดขึ้นมีมาแต่โบราณ ปัจจุบันก็ยังเป็นอยู่ในจารึกอักขระมอญเก่า ก็ยังบันทึกไว้แล้วว่า ปรากฏมีแผ่นดินไหวเมื่อประมาณระหว่างพุทธศตวรรษที่ 17-18 หรือแม้กระทั่งพระสถูปเจดีย์วัดมหาวัน ก็โค่นล้มลงเพราะแผ่นดินไหว เผยโฉมพระรอด และพระพิมพ์อื่นๆ จำนวนมาก โดยเฉพาะพระพิมพ์อื่นๆ ที่ขึ้นมากับพระคง หรือพบที่อุปจารวัดพระคงฤาษีก็ยังมี พระสามลำพูน พระสิบ พระเลี่ยง พระลือ พระบาง พระป๋วย แต่ไม่มีพระรอด พระคงในกรุนี้เป็นพระคงพิมพ์เดียวกันกับพระคง กรุวัดดอนแก้ว ซึ่งพบมีมากเป็นจำนวนพันองค์ขึ้นไปใต้ฐานชุกชีขององค์พระประธานในวิหารเก่าแก่ เพราะเหตุว่าถูกเก็บรักษาไว้ในสถานที่มิดชิด ปลอดจากความชื้นสภาพพระจึงดูสวยงามมาก หรือเรียกได้ว่าสมบูรณ์มากที่สุด วงการพระเครื่องจึงจัดให้เป็น พระคง กรุใหม่ ซึ่งก็มิได้หมายความว่าเป็นพระสร้างใหม่ แต่ทั้งพระคง กรุเก่า และกรุใหม่ ต่างก็ปรากฏคราบกรุเกาะแน่นอยู่ตามซอกมุมต่างๆ ในพิมพ์พระ ข้อที่แตกต่างระหว่างพระคง กรุเก่า และกรุใหม่ ก็คือ พระคง กรุเก่า ผิวองค์พระชำรุดเสียหายเพราะผจญมารมามากกว่าก็แค่นั้นเอง ส่วนพระคง กรุใหม่ สภาพสมบูรณ์มาก จนดูเหมือนพระใหม่ แต่ไม่ใช่เนื่องจากเนื้อพระแห้งสนิท และส่วนมากแกร่งเกือบจะเป็นหินเช่นเดียวกับพระรอดโดยเฉพาะ พิมพ์ที่มีสีสันวรรณะออกสีเขียวมอย และสีดำ
แต่ด้วยเหตุที่พระคง เป็นพระที่ผาโดยบรรจุอยู่ในหม้อดินเผาจากข้างใต้เหมือนการหุงต้ม ซึ่งเป็นวิธีเผาพระแบบโบราณ เช่นเดียวกับพระรอดและพระพิมพ์เมืองลำพูนส่วนใหญ่ ประกอบกับเนื้อดินเหนียวเมืองละปูนมีแร่ธาตุพิเศษอยู่ในดินหลายอย่าง ซึ่งสันนิษฐานในหมู่ผู้เชี่ยวชาญท้องถิ่นว่า เป็นเหตุให้พระพิมพ์พระเครื่อง กรุเก่าเมืองนี้มีสีสันวรรณะหลากหลาย และโดยเฉพาะพระคงนั้น เท่าที่พบแล้วเป็นที่นิยมในวงการพระ 6 สี ได้แก่ สีขาว, สีพิกุล หรือสีเหลือง, สีเขียวคราบเหลือง, สีเขียวคราบแดง, สีเขียวหินครก, สีดำดังกล่าว และสีแดง ซึ่งเป็นสีที่พบน้อยที่สุด และอาจจะเป็นเพราะว่าได้รับการเผาแบบที่ทำให้มีอุณหภูมิที่แตกต่างกัน แม้อยู่ในภาชนะเดียวกัน ประกอบกับการใช้แม่พิมพ์หลายตัวเนื่องจากสร้างพระไว้เป็นจำนวนหมื่นองค์ขึ้นไป ทำให้ขนาดองค์พระคงไม่เท่ากัน การได้รับความร้อนในการเผารุมก่อให้เกิดการหดตัวไม่เท่ากัน และการทำบล็อกใหม่ ก็ทำให้องค์พระจากบล็อกใหม่เล็กลงกว่าองค์เก่าที่ใช้เป็นแม่แบบ บางองค์จึงดูชะลูด บางองค์แลดูต้อกว่าปกติ โดยรวมแล้วก็ไม่แตกต่างกันมากนัก
พุทธลักษณะพระคง เป็นพระนั่งปางมารวิชัยแบบขัดเพชร บนอาสนะฐานบัลลังก์ หรือฐานบัวเม็ดสองชั้น พระวรกายอ้วนล่ำเหมือนพระเชียงแสนแบบสิงห์หนึ่ง พิมพ์ทรงมีลักษณะคล้ายเส้นโครงรอบนอกของซุ้มคูหาพระสถูปเจดีย์ รอบองค์พระเป็นร่มโพธิพฤกษ์ที่ดูเหมือนธรรมชาติมากที่สุด และเพราะโพธิพฤกษ์แบบนี้แหละ ทำให้นักวิเคราะห์วิจารณ์เรื่องพระเครื่องบางท่านเข้าใจว่า พระคง อาจจะมีอายุเก่าแก่กว่าพระรอด ที่มีโพธิพฤกษ์ประเภทที่วิวัฒน์แล้วจากธรรมชาติเดิมของใบโพธิ์ ที่น่าสังเกตก็คือ ลักษณะพระเศียรที่ดูเหมือนโล้น และก็เป็นไปได้เหมือนกันว่า อาจจะโล้นจริงๆ บางท่านก็ว่า มีต่อมพระเมาฬีเล็กๆ ความเห็นสองอย่างดังกล่าวนี้ยังไม่ลงตัว แต่พระคงมีพระกรรณยานยาวประบ่า
อย่างไรก็ตาม โพธิพฤกษ์ นับว่าเป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของ พระพิมพ์พระเครื่องเนื้อดินเผา สกุลช่างหริภุญไชย ไม่ว่าจะเป็นพระคง พระบาง พระเปิม พระลือ พระสาม ซึ่งถือว่าเป็นพระพิมพ์นิยมในวงการนักพุทธศิลป์นิยมทุกระดับ อย่างไรก็ตามยังมีพระพิมพ์อื่นที่ไม่มีโพธิพฤกษ์ แต่พุทธลักษณะกลับเหมือนพระรอด และโดยรวมแล้ว ท่วงทีในศิลปะและเชิงช่างของพระสกุลลำพูนมักจะมีอัตลักษณ์บางอย่างที่ประณีต แม้กระทั่งเนื้อดินที่ใช้สร้างพระ ก็มักจะเป็นเนื้อละเอียด ซึ่งผู้รู้วินิจฉัยแล้วว่า เป็นเนื้อดินผสมว่านและเกสร อีกทั้งยังได้ผ่านการเตรียมดินเป็นอย่างดี เราจึงแทบไม่เคยเห็นเม็ดกรวดทรายปรากฏในเนื้อดินของพระพิมพ์เมืองลำพูนเลย ดังนั้น จึงนับได้ว่านอกจากโพธิพฤกษ์แล้ว เนื้อดินที่สร้างพระดังกล่าวก็เป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่นและโด่งดังอีกอย่างหนึ่งของพระพิมพ์สกุลช่างหริภุญไชย หรือพระพิมพ์เมืองลำพูน และยังมีข้อควรพินิจพิเคราะห์อีกอย่างหนึ่งก็คือ ทุกพิมพ์ที่ได้กล่าวถึง ล้วนแล้วแต่เป็น พระปางมารวิชัยทั้งสิ้น ปางสมาธินั้นน่าประหลาดที่เราไม่เคยเห็นพระเมืองนี้แสดงปางสมาธิเลย มีแต่ปางมารวิชัย และจะต้องประทับนั่งแบบขัดเพชรด้วย ส่วนมากก็จะมีฐานบัวเป็นหลัก น้อยที่สุดจึงจะพบว่าเป็นฐานเขียง เช่นอย่างฐานพระรอด นี่ก็คงเป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่นเฉพาะพระรอดกระมัง แต่ที่แน่ๆ เป็นพระพิมพ์ที่มีอายุความเก่าแก่ประมาณ 700-800 ปีขึ้นไป คือเก่าแก่กว่าอายุของเมืองเชียงใหม่และอยุธยา ทุกพิมพ์แม้จะไม่ทราบรายละเอียดวันเวลาในการสร้าง แต่ก็อาจจะประเมินคร่าวๆ ได้ว่า เก่าแก่กว่า โดยวินิจฉัยจากศิลปะสกุลต่างๆ ที่ผสมอยู่ในแต่ละพิมพ์พระ ดังนั้น ผู้เขียนหรือใครก็ตาม ไม่จำเป็นต้องบรรยายคุณค่าในการบูชาสะสม เพราะนอกจากจะไม่มีวุฒิความรู้และศักดิ์ศรีที่จะกล่าวถึงแล้ว แค่เพียงท่านผู้อ่านปรายตาดูภาพประกอบก็สามารถซึมซับสุนทรียภาพในองค์พระ หรือในพุทธศิลป์ขององค์พระได้เอง แทบไม่ต้องการคำบรรยายให้มากความ สวัสดีครับ!
(ที่มา นิตรสารลานโพธิ์ ฉบับที่ 1003 ประจำเดือนกรกฎาคม 2551)
|