จัดสร้างโดย พระอาจารย์ธีระ ญาณวฺฒโฑ มีหลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี เป็นประธานอุปถัมภ์
ตำนานพระธาตุสบฝาง พระนลาฏธาตุของพระพุทธเจ้า
วัดพระธาตุสบฝาง เป็นวัดเก่าแก่มีอายุมากกว่า 1,300 ปี สร้างโดยพระเจ้าพรหมมหาราช กษัตริย์แห่งเวียงไชยปราการ
ตั้งอยู่บนดอยสบฝาง บริเวณที่แม่น้ำฝางมาบรรจบกับลำน้ำกก เป็นศูนย์รวมด้านจิตใจของพุทธศาสนิกชนอำเภอแม่อาย
นับเป็นพระธาตุเจดีย์ที่มีความเก่าแก่มากที่สุดองค์หนึ่งของล้านนาจากการสืบค้นประวัติ จะขอกล่าวเล่าถึงตำนานของพระธาตุศักดิ์สิทธิ์องค์นี้ว่า
ในราวพุทธศตวรรษที่ 15 มีพระภิกษุรูปหนึ่ง นามว่า พระพุทธโฆษาจารย์ ได้นำเอาพระธาตุส่วนพระนลาฏของพระพุทธเจ้า
(กระดูกส่วนหน้าผาก) จำนวน 16 องค์ มาถวายแด่พระเจ้าพังคราช กษัตริย์แห่งอาณาจักรโยนกเชียงแสน เมื่อพระองค์ได้รับพระธาตุแล้ว
จึงทรงแบ่งพระธาตุดังกล่าวมอบให้แก่พระเจ้าพรหมมหาราช พระโอรสของพระองค์เองเก็บรักษาไว้
พระเจ้าพรหมมหาราช ได้นำพระธาตุส่วนหนึ่งมาบรรจุไว้ในเจดีย์พระธาตุจอมกิตติ (เชียงแสน) ส่วนพระบรมธาตุที่เหลือทั้งหมด
พระองค์ได้นำมาบรรจุไว้ในเจดีย์พระธาตุสบฝาง ขณะพระองค์กำลังเดินทางมาสร้างเวียงไชยปราการ
กาลเวลาผ่านไปไม่มีใครมาใส่ใจดูแล ทำให้กลายสภาพเป็นวัดร้าง จนกระทั่งปี พ.ศ.2467 ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาไทย ได้เดินธุดงค์
ไปเมืองเชียงแสน แวะพักระหว่างทางบนดอยสบฝาง พบเห็นองค์เจดีย์เก่าแก่ทรุดโทรม จึงทำการบูรณปฏิสังขรณ์สร้างองค์พระธาตุสบฝางขึ้นใหม่
ให้ใหญ่กว่าเดิม พร้อมทั้งได้สร้างบันไดนาคจำนวน 716 ขั้น จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2476 ได้เกิดไฟป่าไหม้ครั้งใหญ่ ลุกลามไปถึงวัดพระธาตุสบฝาง
ไฟได้ไหม้วิหารเผาพลาญทุกอย่างสิ้น สร้างความเสียหายอย่างรุนแรง ต่อมาในปี พ.ศ.2532 พระครูวุฒิญาณพิศิษฐ์ ขึ้นมาจำพรรษาบนดอยสบฝาง
ท่านได้สร้างอุโบสถและวิหารปฏิบัติธรรม พร้อมกับได้บูรณะองค์พระเจดีย์ใหม่ทั้งองค์ เปลี่ยนยอดฉัตรพระเจดีย์ให้สมบูรณ์สวยงาม ตราบเท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน