พระอาจารย์ผดุง พุทธสโร เกจิอาจารย์ล้านนารูปหนึ่งแห่งวัดล้านตอง ตำบลห้วยทราย อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ท่านมีความเคารพนับถือครูบาเจ้าฯ เป็นอย่างมาก ท่านได้สร้างเกศาครูบาขึ้นรุ่นหนึ่ง ดังมีรายละเอียดการสร้าง ดังนี้
เมื่อปี พ.ศ. 2540 ท่านได้เดินทางไปพบกับผ้าขาวดวงต๋า ปัญญาเจริญ ที่บ้านห้วยไซ ตำบลบ้านธิ จังหวัดลำพูน ผู้เคยเป็นลูกศิษย์ของครูบาเจ้าฯ ผ้าขาวดวงต๋าได้เก็บเส้นเกศาครูบาเจ้าฯไว้จำนวนหนึ่ง ใส่กระบอกไม้ไผ่เฮี้ยมีฝาปิดลงรักงดงาม แล้วถวายเส้นเกศาดังกล่าวเพื่อให้นำไปสร้างพระเครื่อง จากนั้นในปีเดียวกันจึงนำมาสร้างพระเกศาครูบาเจ้าฯ ตามเจตนาของเจ้าของ จำนวนมากเป็นพันองค์ มี 3 พิมพ์ คือ พิมพ์พระรอด พิมพ์พระลือโขง และพิมพ์รูปเหมือน โดยมีวิธีการทำดังนี้
มวล สารที่ใช้สร้างประกอบด้วย ดอกไม้อุโบสถส่วนหนึ่ง ธรรมใบลานเก่าและพับหนังสา ส่วนหนึ่ง ใบสรี หรือใบโพ ที่เก็บได้จากต้นโพ จำนวน 108 ต้น ส่วนหนึ่ง นำมวลสารเหล่านี้มาสับให้เป็นชิ้น ๆ ตากให้แห้ง แล้วคั่วในกระทะใบใหญ่จนกรอบมีสีดำ จากนั้นนำมาตำให้ละเอียด ร่อนเอาเฉพาะผงถ่านนำมาผสมกับยางรักที่กรองแล้วคลุกเคล้าจนเหนียวพอปั้นเป็น องค์ได้ แม่พิมพ์ปั้นจากดินเหนียวเผาไฟจนแกร่ง เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้วก็จะขัดราชวัตรแวดล้อมพร้อมตั้งเครื่องบวงสรวง พลีกรรมตามธรรมเนียมอย่างล้านนา เทเส้นเกสาครูบาเจ้าลงบนผ้าขาว แล้วปั้นสมุกคลุกรักให้พอองค์ นำมาแตะกับเส้นเกศาแล้วกดเป็นรูปพระตามแบบพิมพ์ ด้านหลังประทับตราเป็นรูปยันต์ฟ้าล้นหรือยันต์ฟ้าลั่นซึ่งผ้าขาวดวงต๋าเล่า ว่า เป็นยันต์ที่ครูบาเจ้าฯนิยมใช้ เมื่อเสร็จแล้วนำพระเกศาทั้งหมดผึ่งลมจนแห้งสนิทเป็นเวลาเดือนครึ่ง ก่อนจะนำเข้าพิธีปลุกเสกร่วมกับวัตถุมงคลของท่านครูบาน้อยแห่งวัดบ้านปง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ในปีเดียวกัน แล้วแบ่งพระเกศาที่สร้างในครั้งนี้ออกเป็นสามส่วนเท่า ๆ กัน ตนเองเก็บไว้เพียงส่วนเดียวเพื่อไว้แจกแก่ผู้ที่นับถือครูบาเจ้าฯ
วิธีการสร้างพระเกศา ตามที่ผู้เขียนได้เขียนเล่ามานี้ คงพอประมาณได้ว่าการสร้างพระเกศาในอดีตนั้นเป็นอย่างไร อาจไม่ตรงเสียทั้งหมด จึงได้ใช้คำว่า ประมาณเอา ส่วนการสร้างพระเกศารุ่นนี้อาจจะแปลกจากรุ่นอื่น ๆ ในอดีต กล่าวคือได้พระเกศาพิมพ์เดียวกันเป็นจำนวนมาก เพราะพระเกศาครูบาเจ้าฯในยุคต้นที่เราท่านพบส่วนมากไม่ซ้ำพิมพ์กัน