ตะกรุดลูกนี้ชื่อว่า.......ตะกรุดพ่อค้าโทน (ป้อก๊าโตน)
เลยตั้งคำถามในใจตัวเองว่าทำไมถึงชื่อนี้ ทั้งที่ตัวยันต์ก็ไม่ได้ บ่งบอกเลยว่าเป็นพ่อค้า เพียงแค่เห็นตัวอักขระตัวเมือง อยู่2คำว่า อะ และคำว่า กั๊วะ แล้วขีดเส้นเป็นตาราง คล้ายๆยันต์จันทะระประภา สุริยะประภา และมงกุฎพระพุทธเจ้า เลยค้นคว้าศึกษาเลยครับว่า เหตุอันใดถึงชื่อว่า “พ่อค้าโทน”
จากตารางยันต์ สู่ตะกรุด ที่ครูบาขันแก้ว อุตตฺโม วัดสันพระเจ้าแดงท่านถ่ายทอดลงเป็นตะกรุดให้ได้เห็น และได้บูชาใช้กัน และท่านยังเขียนว่า “ยิงไม่ออก..เชื่อแล้ว”เลยยิ่งอยากรู้และสืบประวัติที่มาให้ได้เร็วที่สุด และนำมาถ่ายทอดให้หลายๆคนได้อ่านกัน
เอาละครับเรามาเริ่มกันเลย
ตะกรุด หรือยันพ่อค้าโทนตำรานี้ครูบาขันแก้วท่านสืบทอดมาจากตำราของโยมปู่ปินตา ที่หลวงพ่อเทปินเจ้าอาวาสวัดสันพระเจ้าแดงบันทึกไว้ให้เป็นตำราประจำวัด
ยันต์พ่อค้าโทนน่าจะเป็นยันต์ที่คนโบราณท่านเรียกว่า “ยันต์โทน หรือ ยันต์โตน”เป็นยันต์ที่เหล่าครูบาอาจารย์ท่านคิดค้น เพื่อให้บรรดาลูกศิษย์ลูกหาที่ชอบเดินทางรอนแรมในที่ต่างๆให้เดินทางด้วยความปลอดภัย จากโจรผู้ร้าย จากคุณไสยการเดินข้าม เดินเยียบในที่ต่างๆ และเดินทางไป ณ แห่งใดก็มีคนรัก จนเกิดการพัฒนาในการใช้ยันต์หรือตะกรุดนี้กับเหล่าบรรดาพ่อค้าวัว พ่อค้าควาย ค้าขายสินค้าต่างๆที่เดินทางรอนแรมกลางป่าเพื่อไปหมู่บ้านหนึ่ง จนถึงอีกหมู่บ้านหนึ่ง ในการเดินทางแต่ละครั้งอาจเกิดภัยอันตรายจากธรรมชาติและการปล้น ดักชิงทรัพย์สินเงินทองและซึ่งยังเกิดขึ้นมากในสมัยนั้น เพราะเหตุว่าในยุคนั้นมีโจรผู้ร้ายอันตรายชุกชุม ทั้งยังกันคนที่ชอบลองของเวทย์มนคาถาอาคมเช่นการปล่อยไสยศาตร์ที่เรียกกันว่า “ลมเพ ลมพัด”ทั้งหลายไม่ไห้มากล้ำกลาย ให้กับคนที่เดินเทียมวัวเทียมเกวียนพ่อค้าขายของที่เร่ไปค้าขายยังเมืองต่างๆเกิดอันตรายได้ เลยมีการทำยันต์นี้ขึ้นมาจนเป็นยันต์ที่พูดติดปากว่า ยันต์พ่อค้าโทน
อักขระยันต์ถ้าเป็นตัวหลักๆใช้เขียนช่อง กลาง บน ล่าง ซ้าย ขวา ก็คือตัว “อะ”
คำว่า “อะ” นั้น ในบรรดาครูบาอาจารย์แต่กาลก่อนหลายจะยกย่องว่าเป็นแม่แห่งอักขระ คำว่า “อะ”อาจถอดเป็น
อะ-อะระหังสัมมา สัมพุทโธภควาฯลฯ
ซึ่งเป็นปฐมแห่งการสวดมนต์ เพียงคำว่า “อะ”ตัวเดียวมีความหมายถึงคุณพระรัตนไตรทั้งสี่ทิศเลยก็ว่าได้ เพราะมีพุทธคุณครบทุกอย่าง
ถัดมา อ่านว่า “กั๊วะ” น่าจะเป็นภาษาพูดการออกสำเนียงให้เหมือนกับเสียงสิ่งที่กำลังจะแตก หรือหัก ถ้าเป็นภาษาเขียนหลายๆท่านอาจ งง ว่า มันเกี่ยวอะไรกับตัวยันต์
ตามหลัก....ถ้าคิดแบบคนโบราณท่านจะนำอักษรที่มีความหมายมาใช้เลยครับ คำว่า กั๊วะ มี2คำแยกออกมาคือ ตัว “กะ” และตัว “ว๊ะ” ตัว กะ อยู่บนตัว ว๊ะ ซึ่งเป็น คาถาหัวใจฟ้าฟีก หรือ มหาตั๋น ของเมืองยอง(ที่เห็นจากปั๊ปสา ของพ่อหนานเงา ไชยศรี ฆารวาสจอมขมังเวทย์แห่งบ้านฉางข้าวน้อย อ.ป่าซาง จ.ลำพูน ที่สืบเชื้อสายมาจากเมืองยอง สิบสองปันนา)ที่เกริ่นไว้แต่ต้นว่าตำรานี้เป็นตำราของโยมปู่ปินตาของครูบาขันแก้วที่ท่านศึกษาจากเมืองยอง สิบสองปันนาแล้วมาตั้งรกรากในเขต อ.บ้านธิ(ปัจจุบัน)
ที่สืบหาว่ามีสำนักใดบ้างที่มีการสร้างยันต์นี้.....จาการเสาะหาไม่เคยเจอเลยครับว่ามีผู้ที่สร้างยันต์นี้ที่ชื่อว่าพ่อค้าโทน.....แต่อาจจะมีหลายๆอาจารย์แต่กาลก่อนก็ได้ครับที่ท่านได้สร้างไว้ ดั่งที่เคยเขียนว่า การสร้างตะกรุดยันต์ของครูบาอาจารย์ต่างๆนั้นท่านก็ได้สร้างสืบตำรามา แต่...ไม่มีเอกลักษณ์ใดๆเป็นของตายตัวให้รู้เลยว่าใครสร้าง จนกลายเป็นเพียงแค่ตำนานที่ลืมไปตามกาลเวลา แต่ตัวผมเองก็ยังเชื่อว่า ตำรานี้ต้นฉบับจริงและมีการสืบทอดน่าจะอยู่เมืองยอง แคว้นสิบสองปันนา และเมืองพม่า
พุทธคุณแห่งตะกรุดพ่อค้าโทน ดั่งที่ท่านได้อ่านมาแต่ต้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเดินทางที่ปลอดภัยจากอันตรายทั้งคุณธรรมชาติ กันคุณไสย คุณผี คุณคน เป็นกาสะท้อน ไปไหนใครเห็นหน้าก็รักสงสาร ค้าขายอันใดก็เป็นอันขายดิบดีมีคนเมตตาทุกที่ เป็นมหาอุตย์ชั้นเลิศ( ครูบาขันแก้วท่านยังเขียนว่า..ตะกรุดพ่อค้าโทนยิงไม่ออก..เชื่อแล้ว) ในการเดินทางเข้าป่าที่ขึ้นชื่อว่าอาถรรพ์ ก็ไม่ได้รับอันตรายใดๆด้วยอานุภาพแห่งตะกรุดนี้ที่สืบทอดมาแต่โบราณฯ
และเหนือสิ่งอื่นใด ผู้ที่ทำยันต์นี้ ต้องมีอำนาจจิตที่กล้าแข็งมากและต้องรู้ความหมายในการเดินเส้นยันต์และอักขระวิธี ครูบาขันแก้วนี่แหละครับท่านทำเพื่อสืบต่อตำราพุทธคุณยันต์ โตน หรือ พ่อค้าโทนครับ ที่เห็น ณ ปัจจุบัน( สร้างน้อยมาก เพื่อสืบต่อตำรา โดยคุณ หมอสมสุข คงอุไรได้ขอเมตตาจากครูบาขันแก้วเขียนยันต์ครับ)
|