ตะกรุดเสื้อยันต์ครูบาชุ่ม โพธิโก
อีก1ตำนานแห่งครูบาชุ่ม ที่สร้างชื่อเสียงให้หลายๆผู้เคารพท่านได้รับรู้คือ การสร้างตะกรุดเสื้อยันต์ที่เขากล่าวกันว่ากองพลเสื้อดำ(ในหนังสือ ครูบาชุ่ม คนดีศรีวังมุย)แต่ในสิ่งลึกไม่มีใครรู้ว่าความเป็นมาแห่งตะกรุดเสื้อยันต์เป็นยังไงมาลงอ่านกันครับ
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ในสมัยก่อนจะมีการสู้รบกัน คนทีมีครูบาอาจารย์ ศรัทธาหลวงพ่อไหนก็ไปขอวัตถุมงคลจากครูบาอาจารย์ของตนเพื่อให้เกิดสิริมงคล ให้แคล้วคลาดภัยจากอันตรายได้กลับมาบ้านเจอหน้าครอบครัว หน้าลูกหน้าเมียกันไม่ต้องสูญเสียชีวิต
ในตำราแห่งการสร้างยันต์จริงๆในสมัยโบราณที่เขาเอาไว้ใช้ออกรบ จะเป็นการเขียนลงผ้าประเจียด ผูกแหวนพิรอดให้เหล่าทหารได้พกติดตัว เขียนตะกรุดห้อยคอ มัดตะกรุดไว้ที่เอว หรือคนที่มียศหรือตำแหน่งสูงขึ้นมาหน่อยก็จะเขียนลงในเสื้อที่สวมใส่จะเป็นคาถา หรือหัวใจต่างๆ ขีดเป็นเส้นตารางๆต่างๆตามแต่ละสำนักจะคิดค้นยันต์ขึ้นเพื่อเขียนลงที่เสื้อยันต์(ในความคิดส่วนตัวผมนะครับ คิดว่าการสร้างเสื้อยันต์ก็เพราะคนที่มาขอครูบาอาจารย์นั้นอยากจะให้แคล้วคลาด อยู่ยงคงกระพัน ทั้งหน้าทั้งหลัง ทั้งยามหลับ หรือตื่น ทั้งรู้ตัว และไม่รู้ตัว ทั้งๆที่คนศรัทธาในตะกรุดจริงๆแค่ดอกเดียวก็ได้แล้ว อีกอย่างการสร้างหรือเขียนเสื้อยันต์เป็นกุศโลบาย การปลุกใจเหล่าบรรดาทหารหาร ที่ออกไปรบให้มีใจฮึกเหิม มากกว่า)
แต่....ในเรื่องการสร้างตะกรุดเสื้อยันต์ ในของล้านนาจริงๆจากที่ศึกษาจริงๆมีมาไม่น่าเกิน300ปี และเป็นภูมิปัญญาของครูผู้เฒ่าแต่เก่าก่อนท่านคิดมาให้สะดวกไม่สิ้นเปลืองเนื้อที่ คือใช้ตะกั่ว หรือโลหะ ที่เขียนอักขระยันต์แล้วนำมาร้อยให้เป็นเสื้อ และคนที่เอามาสวมใส่ก็อุ่นใจในเรื่องอันตราย จนมีตำราเป็นเอกลักษณ์เฉพาะสำนักนั้นๆ จากการเสาะหาในเรื่องตำราการสร้างตะกรุดเสื้อยันต์นั้นปัจจุบันนับว่าหายากมากๆครับด้วยเหตุที่ในสมัยปัจจุบันไม่มีลูกศิษย์คอยสืบทอดตำรา การสร้างตะกรุดเสื้อยันต์แต่ละชุดต้องใช้ความพยายามร้อยเรียงกัน 1ชุดใช้เวลาก็นานพอสมควรเพราะต้องสร้างตามฤกษ์ที่คอยกำหนดในการเขียนยันต์จากครูบาอาจารย์ อีกทั้งเครื่องบูชาครูที่ค่อนข้างซับซ้อนวุ่นวาย ฤกษ์ก็เป็นตัวบีบบังคับเขียนได้เท่าไหร่ ก็เท่านั้น เลยเป็นเหตุที่ตำราการสร้างตะกรุดเสื้อยันต์ได้หายไปกับการเวลาด้วยเหตุปัจจัยหลายๆอย่างเช่น บางสำหนักกล่าวไว้ว่าต้องเขียนยามเวลาเมฆบังพระอาทิตย์เท่านั้น เป็นเคล็ดว่า ออกรบเป็นที่บังตาของเหล่าศรัตรู(นี่ก็เป็นสูตรของยันต์เมฆบังวัน สายเมืองน่าน) ต้องเขียนในเพชฌฆาตฤกษ์ หรือภูมิปาโลฤกษ์ ช่วงเวลายาม3 วันอังคาร ข้างขึ้น ไม่ตรงกับวันเสียของเดือนนั้นๆ จะเห็นได้ว่าการสร้างนั้นซับซ้อนกว่าที่หลายๆคนรู้ และเจอคนที่สร้างตะกรุดปัจจุบันนั้นยากจริงๆ
ในส่วนตะกรุดของครูบาชุ่มนั้น จากการศึกษาว่ามาจากที่ไหน ใครเป็นคนที่ถ่ายทอดให้ ก็ต้องย้อนกลับไปในสมัยที่ท่านได้ไปเรียนการสร้างตะกรุดกับพระมหาเมธังกร(หลวงปู่หมา) วัดน้ำคือ จ.แพร่ ครูบาชุ่มท่านได้เรียนการสร้างตะกรุดที่ขึ้นชื่อที่สุดคือ ตะกรุดหนังลูกควายตายพลาย และตำราอีกหลายๆอย่าง หนึ่งในนั้นคือตำราการสร้างตะกรุดเสื้อยันต์มาด้วย ตะกรุดเสื้อยันต์ครูบาชุ่มที่ท่านบอกกับอาจารย์หมอสมสุข คงอุไร ว่าในยุคสมัยท่านมีหลายๆสำนักเหมือนกันที่สร้างตะกรุดเสื้อแบบเดียวกับท่าน เช่น ครูบาสม วัดป่าแดด อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ครูบาธรรมชัย วัดประตูป่า จ.ลำพูนก็เคยได้สร้างไว้ และเหล่าครูบาอาจารย์ ทางสายเมืองแพร่ เมืองน่านก็สร้างไว้เยอะเช่นกัน และอีกหลายสำนักครับที่สร้าง ผมศึกษาหาข้อมูลยากมากๆเพราะใครก็อ้างว่าเป็นตะกรุดเสื้อยันต์จากครูบาชุ่ม ทั้งนั้น(ผมก็ถามเขาว่ารู้ได้ยังไง เพราะมีทั้ง26ดอก 16ดอก 24 ดอก 32ดก คนที่มีเหล่านั้นตอบว่า ตอนชื้อมาเขาว่าเป็นของครูบาชุ่ม และ ความเก่ามันถึง และไปเจอของคนเฒ่าคนแก่ ท่านก็ตอบไม่รู้ เพราะเป็นของพ่อเขา) ในการสร้างตะกรุดเสื้อยันต์ครูบาชุ่ม จริงๆแค่ชุด12ดอก โดยท่านบอกกับอาจารย์หมอสมสุข คงอุไรว่า สำนักอื่นท่านไม่รู้ เพราะสร้างกันเยอะตำราที่ท่านเรียนมาก็มีแค่ชุด12ดอกเท่านั้น ด้วยเหตุปัจจุบันมีเรื่องธุรกิจ การซื้อขายความศรัทธาเกิดขึ้นใครมีก็ตอบว่าเป็นของครูบาชุ่ม โพธิโก ทั้งนั้น ต้อยความอยากรู้ผมเลยแกะตะกรุดยันต์เสื้อที่ได้มาจากคณะศิษย์รัศมีพรหมโพธิโก ที่ได้บูชาจากครูบาชุ่มในสมัยเมื่อปี18-19 และได้แกะตะกรุดเสื้อยันต์จากพ่อหนานปัน จินา หลานครูบาชุ่มและเป็นคนเขียนยันต์ให้ครูบาชุ่มในปั้นปลายชีวิต เมื่อ4-5ปีก่อนที่ท่านยังสร้างอยู่ ผมเลยเอาของครูบาชุ่มมาเทียบอักขระกัน ของพ่อหนานปัน จินา อักขระจะไม่ค่อยคมหรือเป็นตัวหวัด เพราะแรงมือที่ตกไปแต่ก็ยังพอรู้เป็นลางๆว่าใช่อักขระเดียวกัน ส่วนที่อื่นผมก็ขอเขาแกะดูแค่2-3 ยันต์ที่เป็นตารางยันต์ชุด12ดอกที่อ้างว่าเป็นของครูบาชุ่ม ปรากฎว่าใช่ครับ เพราะเป็นตัวที่พ่อหนานปัน จินา เป็นคนเขียนไว้ และบางดอกที่ เป็นชุด16 20 24 32 ตัวหนังสือไม่ใช่เลยครับ และอักขระยันต์ต่างไปโดยสิ้นเชิง
ในส่วนของยันต์ อักขระของตะกรุดเสื้อผมบอกตรงๆว่า มึนเลยครับ เพราะเป็นตำราเฉพาะของครูบาชุ่มท่านที่สืบทอดมากจากพระมหาเมธังกร
4ชุดบน จะเป็นตารางกากบาท แล้วเขียนอักขระแต่ละช่อง เช่น ธะ ตะ ละ ปะ /สะ กะ กะ ละ/ เป็นต้น
4ชุดกลาง จะเป็นหัวใจต่างๆ9ตัว แต่ไม่มีตาราง เช่น มะ นิ มะ วะ นะ ริ ยัง วะ หะ/เป็นต้น
4ชุดล่าง ตีเป็นตารางขีด9ช่อง แล้วลงอักขระ ทั้งตัวเลข(ล้านนา)และอักระปนกัน เช่น สะ อุ่ง ธะโต๋ ติ อะ สวามะ/ อีกหนึ่งคือ..๔ อะ ๒ ๕ ๑ สะ ๑ ต๊ะ อะ/เป็นต้น
ในตารางจะเป็นว่า เป็นสูตรอักขระของคนโบราณที่ท่านคิด ที่คนปัจจุบันอย่างเราๆยากที่จะคาดเดาได้ ท่านถึงว่าเป็นตำราเฉพาะสำนัก และครูบาชุ่มท่านก็สืบทอดมาสร้างแล้วแจกให้ลูกศิษย์ลูกหาใช้
ส่วนกลวิธีที่ใช้ท่านก็บอกว่า
1.เวลาใส่ไม่เข้าก็อย่าออกไปนอกบ้านอาจจะมีเหตุถึงชีวิต
2.เวลาสวมตะกรุดเสื้อยันต์ถ้าเกิดคัน ก็ให้ระวังอันตรายจากสิ่งที่ยังมาไม่ถึง
3.สามารถป้องกันอันตรายจากการสู้รบ จากการโดนยิงหรือโดนทำร้ายด้วยอาวุธของมีคมหรือโดนระเบิด (ยกเว้นกรรมเก่า ที่จะมาตัดรอน )
4.ป้องกันการตู้ลองของร้ายมนต์ดำของศัตรู ขณะสวมใส่ตะกรุดเสื้อยันต์ เป็นก่าสะท้อนได้ดี
5.ป้องกันอสรพิษต่างๆเวลาเข้าป่า หรือในที่รกร้าง
จะเห็นได้ว่า พุทธคุณจะเน้นแต่เรื่องสู้รบทั้งสิ้น ในปัจจุบันหาคนสร้างแบบครูบาชุ่มยากมากครับ ที่ท่านสร้างแจกพวกลูกศิษย์โดยตรงเมื่อจำเป็นต้องไปรับใช้ชาติบ้านเมือง
ในส่วนที่ผมเขียนเรื่องตะกรุดครูบาชุ่มนี้ ผมก็อยากจะบอกว่า ผมไม่ใช่เซียนพระที่จะต้องเชื่อตามผม ผมก็แค่อยากจะบอก หรือสื่อเรื่องราวที่อาจจะกลายเป็นตำนานของครูบาชุ่ม อีกไม่กี่ปี ด้วยเหตุปัจจุบันวัตถุมงคลที่อ้างว่าเป็นของครูบาชุ่ม มักจะมีราคาเกิดขึ้น ความเชื่อจากรุ่นสู่รุ่น ความไม่รู้ ตียัดสำนักเลยทำให้คนที่คิดถึงแต่ราคาค่างวด ถามว่าในปัจจุบันของเหล่านี้เกือบจะสูญหายไปจากตำราล้านนา เพราะไม่ค่อยมีใครที่จะนำมาสวมใส่กัน(ก็ไม่ได้ออกไปรบแบสมัยโบราณ) ผมอยากให้ท่านทั้งหลายรู้ที่มาแห่งตะกรุดเสื้อยันต์ที่คนโบราณได้คิดค้นขึ้นจะได้ภูมิใจในภูมิปัญญาของคนโบราณ
และสรุปข้อสุดท้าย แต่ใครจะอ้างว่าอะไรก็แล้วแต่ว่าครูบาชุ่ม ท่านสร้างตะกรุดเสื้อยันต์ชุด 16 20 24 32 ดอกก็ตาม ผมจะยังยึดมั่นตามคำพูดที่ครูบาชุ่ม บอกกับอาจารย์หมอสมสุขว่า ท่านสร้างแค่ชุด12ดอกเท่านั้น ในการซื้อขาย แลกเปลี่ยนก็สุดแล้วแต่ท่านผู้มีปัญญา ครับ
ส่วนในการซื้อขายผมก็ไม่รู้ว่าราคาเท่าไหร่ และจะฟันธงว่าเป็นของครูบาชุ่มยังไงเพราะท่านไม่ได้ตอกโค๊ตไว้ว่าเป็นของสำนักครูบาชุ่ม วัดวังมุย ผมก็ไม่ขอฟันธงแต่ผมจะรู้ได้ก็ต่อเมื่อคลี่ยันต์มาดูเท่านั้นครับ(สำหรับผมนะ)
ใครมีตะกรุดที่เป็นของครูบาชุ่ม ผมก็ยินดีด้วยนะครับ เก็บรักษาให้ดีๆครับ เพราะอีกหน่อยจะเป็นตำนานอีกหน้าของครูบาชุ่มขอครูบาชุ่มจงรักษาทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ
จากใจ ธันชนก ร้าน อักษรธรรม
|