ผ้ายันต์ผืนนี้มีขนาด30x16นิ้ว เป็นผ้าแบบบางสามารถพับพกพาใส่กระเป๋าได้สบายๆ อายุเกิน100ปี สภาพชำรุดบ้างนิดหน่อยเนื่องจากผ่านกาลเวลามายาวนาน เป็นผ้ายันต์ที่เขียนด้วยหมึกสัก โดยการเขียนแบบโบราณใช้ก้านกูดเหลาเหมือนดินสอแลัวจุ่มหมึกสักเขียนและวาด ในยุค100กว่าปีที่แล้วนิยมเขียนผ้ายันต์ด้วยวิธีนี้ ผืนนี้ค่อนข้างวาดรูปสวยงาม บนผ้ายันต์ประกอบไปด้วย ยันต์ติ๊บพญาธร(เสน่ห์เมตตา) พระพรหมให้ลูก(ให้โชคลาภ) นาคกินบ่เสี้ยง(มีกินมีใช้ไม่มีวันหมด ไม่อดไม่อยาก) นาคคู่(เสน่ห์) อิ่นม้า(ม้าเสพนาง)ใช้เป็นเมตตามหาเสน่ห์ อิ่นช้าง(ช้างเสพนางเจอยันต์นี้น้อย)ใช้เมตตามหาเสน่ห์ พญาเขาคำ(ใช้เมตตามหานิยมมหาเส่นห์) พญานกยุงทอง(ใช้มหานิยมมหาเสน่ห์) นกเก๊าแก้ว(ภาคกลางเรียกว่านกถืดทือ)ใช้ในทางเรียกทรัพย์ ฯลฯ
ผ้ายันต์ผืนนี้ถ้าสังเกตจะเห็นว่าจะมีคราบน้ำออกสีแดงๆอยู่ทั่วผ้ายันต์ ตอนแรกนึกว่าเป็นชาดใช้แทนสีแดงใช้ทาลงบนรูปต่างๆในผ้ายันต์ เมื่อพิจารณาดีๆเป็นคราบของน้ำไม้จันทร์แดง(ไม้ที่นำไปฝนกับก้อนหินเอาไว้อาบน้ำพระเจ้าถือว่าเป็นของสูง) ที่คนโบราณล้านนาเวลาช่วงปีใหม่สงกรานต์ก็เอาน้ำที่เป็นมงคลเช่น น้ำส้มป๋อย น้ำไม้จันทร์แดง น้ำดอกคำฝอยไปอาบน้ำพระเจ้าที่วัด แล้วจะเหลือส่วนหนึ่งนำกลับมาที่บ้านเพื่อเอามาอาบน้ำพระเจ้าที่บ้านหรือพระเครื่อง ผ้ายันต์หรือเครื่องรางของขลังต่างๆ ผืนนี้เจ้าของสะหลูบ(ปะพรม)ด้วยน้ำไม้จันทร์แดง(ปัจจุบันหายากมาก) จึงเห็นผ้าเป็นคราบสีแดงจางๆทั้งผืนครับ
|