พระกริ่งไพรีพินาศ วัดบวรนิเวศ ปี 2495 พิมพ์บัวแหลม
พระกริ่งไพรีพินาศ พ.ศ.2495 หนึ่งในพระกริ่งยอดนิยมของวัดบวรนิเวศวิหาร และเป็นพระกริ่งรุ่นแรกที่จำลองแบบพิมพ์มาจาก พระบูชาไพรีพินาศ องค์ต้นแบบ ที่มีผู้นำมาถวาย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 4) เมื่อครั้งยังทรงผนวชอยู่ นับที่เป็นที่นิยมสะสมอย่างกว้างขวางในแวดวงนักนิยมสะสมพระเครื่องมาแต่อดีต ปัจจุบันมีค่านิยมสูงและหาดูหาเช่ายากยิ่ง
ในโอกาสที่ สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (หม่อมราชวงศ์ชื่น นพวงศ์ สุจิตฺโต) วัดบวรนิเวศวิหาร สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 13 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีพระชนมายุครบ 80 พรรษา ในปีพ.ศ.2495 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงรับบำเพ็ญกุศลฉลองพระชนมายุถวายเป็นพระราชกุศล มีการประกอบพิธีเททองหล่อพระพุทธปฏิมา เพื่อเป็นทีฆายุมหามงคลแด่สมเด็จพระสังฆราชเจ้า และจัดสร้างพระบูชาและพระเครื่องนามว่า พระไพรีพินาศ อันเป็นพระเครื่องพระบูชาที่จะเป็นเครื่องเตือนสติให้บุคคลพึงกำจัดกิเลส ความหลง อันเป็นไพรีภายในใจตนเอง ประกอบด้วย พระบูชา พระเครื่อง เหรียญ ฯลฯ รวมทั้ง พระกริ่งไพรีพินาศ แต่พิธีการสร้างได้ดำเนินการมาถึงปีพ.ศ.2496
สำหรับ พระกริ่งไพรีพินาศ นั้น จะมีพุทธลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ กล่าวคือ เนื้อโลหะที่สร้างพระกริ่ง เป็นเนื้อทองเหลืองที่มีลักษณะพิเศษคือ สีสันของเนื้อทองเหลือง แม้ตกมาถึงปัจจุบันก็ยังคงเป็นสีเหลืองสดใสที่อมเขียวอย่างเจือจางเล็กน้อย เพียงพื้นผิวจะคล้ำลงบ้างเท่านั้นเนื่องจากอายุการสร้างที่ยาวนาน
นอกจากนี้ กรรมวิธีการสร้างยังจัดสร้างตามแบบ ตำนานพระกริ่ง ที่ตกทอดมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ซึ่งเป็นพุทธศิลปะการเทแบบโบราณ ไม่มีการแต่งผิวหรือแต่งองค์พระ หรือที่เรียกว่า หล่อโบราณ คือ หลังจากได้เป็นองค์พระกริ่งที่ฉีดเทียนเรียบร้อยแล้ว นำเทียนพระกริ่งมาแนบติดกับก้านชนวนเทียนพระกริ่ง ซึ่งเป็นก้านยาวประมาณ 1 ฟุตครึ่ง ติดก้านพระกริ่งได้ประมาณ 20-30 องค์ เมื่อตากก้านหล่อเทียนของพระกริ่งจนแห้งเรียบร้อยต้องนำมาพอกด้วย ดินขี้วัว อันเป็นสูตรสำคัญ หรือโบราณเรียกว่า ดินไทย พอกให้หนา จากนั้นดามด้วยเหล็กให้แข็งแรง เสร็จแล้วพอกด้วยดินขี้วัวอีกครั้งให้มีความหนาโดยรอบพระกริ่งประมาณไม่น้อยกว่า 1 นิ้ว นำไปผึ่งลมให้แห้งสนิท รอกรรมวิธีการหล่อโลหะอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้น เอกลักษณ์สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ผิวขององค์พระจะปรากฏดินขี้วัวจับอยู่ ซึ่งจะไม่หนาเป็นปึก และจับอยู่ในรูพรุนละเอียดทั้งองค์พระ โดยสีของดินขี้วัวจะเป็นสีเขียวอมดำเข้ม
พระกริ่งไพรีพินาศมีทั้งหมด 2 พิมพ์ คือ พิมพ์ฐานบัวเหลี่ยม และพิมพ์ฐานบัวแหลม ซึ่งมีพุทธลักษณะที่เหมือนกันคือ จะมีขนาดเท่ากันทุกองค์ ลักษณะการถอดหุ่นเทียนด้านข้างโดยรอบซึ่งเกิดจากการประกบพิมพ์จะเป็น ตะเข็บ ให้เห็นคมชัด นอกจากนี้ เนื่องจากเป็นพระกริ่งแบบเทตันแล้วนำมาเจาะอุดเม็ดกริ่งที่ใต้ฐาน ที่ก้นของพระกริ่งจะเป็นรอยตะไบและรอยเสี้ยนอันเกิดจากร่องรอยของการตะไบให้เรียบหลังจากการอุดก้นหลังใส่เม็ดพระกริ่งลงไป อันนับเป็น ตำหนิสำคัญ ของการดูพระแท้อีกประการหนึ่ง
- เม็ดพระศกด้านหน้าเป็นเม็ดกลมโต มี 9 เม็ด
- พระเนตรจะมีเม็ดตาดำรูปกลมแบน ค่อนข้างนูนต่ำ
- พระหัตถ์ข้างขวาหงายขึ้น
- ฐานด้านหลังด้านล่างเป็นตัวหนังสือบุ๋ม ไพรีพินาศ ซึ่งติดคมชัดเจน
- สัณฐานขององค์พระด้านขวาจะยกสูง ด้านซ้ายทรุดต่ำลงเล็กน้อย
ส่วนความแตกต่างของพระกริ่งไพรีพินาศทั้ง 2 พิมพ์จะอยู่ที่ ฐานบัว ตามชื่อของพิมพ์ คือ บัวเหลี่ยม และบัวแหลม นอกจากนี้ เกสรบัวของ พิมพ์บัวแหลม จะค่อนข้างชัดกว่า และเม็ดพระศกด้านหลังของ พิมพ์บัวเหลี่ยม จะเป็นเม็ดกลมโตเหมือนด้านหน้า
แต่ พิมพ์บัวแหลม จะไม่ติดเป็นเม็ดกลมครับผม
พุทคุณเด่นทางด้าน
แคล้วคลาด มีอำนาจบารมี พรั่งพร้อมด้วยโภคทรัพย์ รวมทั้งเมตตามหานิยม เรียกว่า ครอบจักรวาลในทุกด้าน
|