พระรอดบังภัยหัวข่วง
พระรอดหัวข่วงหรือ พระรอดกรุวัดหัวข่วง ก็คือพระรอดที่ขุดพบที่ วัดแสนเมืองมาหลวง ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ แต่เดิมมีชื่อว่า วัดลักขปุราคมาราม ซึ่งเป็นวัดที่พระเจ้าแสนเมืองมาทรงสร้างไว้ ตามตำนานบอกไว้ว่า ต่อมาในปี พ.ศ.2063 พระเจ้าเมืองแก้วได้บูรณะพระเจดีย์วัดหัวข่วงขึ้นมาใหม่ให้ใหญ่กว่าเดิม และในสมัยของพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ ได้เป็นเจ้าครองนครเชียงใหม่ในปี พ.ศ.2403 ก็ได้นิมนต์พระสุวาธุเจ้าสิทธิ์ มาครองวัดแสนเมืองมาหลวง (วัดหัวข่วง)
ในปี พ.ศ.2493 ได้มีผู้ขุดพบพระรอดเณรจิ๋ว หรือที่เรียกกันว่า พระรอดหัวข่วง ในบริเวณที่ตั้งหอมณเฑียรธรรม จากการขุดในครั้งนั้นมีผู้คนเข้าไปร่วมขุดกันมากจนทำให้หอมณเฑียรธรรมพังล้มเสียหาย และถูกรื้อถอนไป การพบในครั้งนั้นก็พบพระรอดหัวข่วง และพระรอดบังไพร ซึ่งเป็นพระเนื้อดินเผา ด้านหลังจะปรากฏลายนิ้วมือ และที่ใต้ฐานจะเป็นรอยเล็บจิกลงไปในเนื้อทุกองค์ พระที่พบเป็นพระขนาดเล็กกะทัดรัด ประเภทจิ๋วแต่แจ๋ว
พระรอดหัวข่วงและพระรอดบังไพรนั้น พุทธคุณเท่าที่มีผู้ได้รับประสบการณ์ต่างออกปากว่า “เหนียว” อยู่ยงคงกระพันชาตรี นอกจากนี้ก็ยังปรากฏเรื่องแคล้วคลาดและคุ้มครองป้องกันอันตรายต่างๆ นานา เรียกว่าใช้แทนพระรอด ลำพูนได้ดีทีเดียวครับ ในปัจจุบันก็ไม่ค่อยได้พบพระแท้ๆ กันนัก แต่สนนราคาก็ยังไม่แพงมากเท่าไร เนื่องจากคนอาจจะลืมๆ กันไปบ้างแล้วนั่นเอง ผู้ที่เคยมีประสบการณ์ขณะที่แขวนพระรอดหัวข่วงนั้น ถูกรุมฟันและแทงด้วยเหล็กขูดชาฟต์จนสลบไป แต่พอถูกนำส่งโรงพยาบาลหมอกลับไม่พบว่ามีบาดแผลที่เข้าเนื้อเลย มีแต่รอยฟกช้ำดำเขียวทั่วร่าง และมีรอยยาวๆ ยางบอนซิบๆ เท่านั้น นี่แหละครับประสบการณ์และเรื่องราวที่ปรากฏ คนเชียงใหม่รู้ดีและหวงแหน
จัดเป็นพระชุดเล็กของเมืองเชียงใหม่หายากครับ
|